สาขาวิชานิเทศศาสตร์ดำเนินงานเพื่อตอบสนองแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายใต้หลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการศึกษาของคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยมีประวัติความเป็นมาโดยสังเขป ดังนี้
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (School of Communication Arts) เป็นหน่วยงานระดับกองของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีฐานะเทียบเท่าคณะของมหาวิทยาลัยในระบบ ปิดได้รับการจัดตั้งเป็นสาขาวิชาลำดับที่ 10 ของมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2527 เปิดรับสมัครนักศึกษาเป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2527 นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ในระบบการศึกษาทางไกล
เหตุผลสำคัญที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเปิดสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์มีดังนี้
1. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีปัจจัยพื้นฐานที่พร้อมจะสนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาในลักษณะต่างๆ มีความชำนาญการในงานด้านสื่อสารมวลชนเป็นพิเศษ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นในการจัดตั้งศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขึ้น นับเป็นส่วนที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
2. การเปิดสอนวิชานิเทศศาสตร์สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติในการมุ่งพัฒนากำลังคนด้านสื่อสารมวลชน ในแผนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 5 ได้ระบุให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดตั้งสาขาวิชานิเทศศาสตร์ขึ้น โดยถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญระดับสูง
ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้การสื่อสารและองค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์มีความจำเป็นมากขึ้น สาขาวิชานิเทศศาสตร์ จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยทางทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) ได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 และได้เปิดสอนในภาคการศึกษาที่ 2/2546 รวม ถึงหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ซึ่งได้เปิดสอนครั้งแรกเมื่อภาคการศึกษาที่ 2/2546 และมีการปรับปรุงหลักสูตรไปเมื่อพ.ศ. 2555
ในภาคต้น ปีการศึกษา 2552 สาขาวิชามีการเปิดสอนระดับปริญญาเอก หรือนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต
ในภาคต้น ปีการศึกษา 2557 สาขาวิชามีการเปิดสอนหลักสูตรนิเทศศาสตมหาบัณฑิต แขนงวิชานิเทศศาสตร์อาเซียน (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติที่ใช้ในการเรียนการสอนทางออนไลน์
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้ดำเนินงานมาครบ 30 ปี เมื่อพ.ศ. 2557 และในปี 2559 – 2560 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ ดังนี้
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรชุมชน เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2559
2. หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2560
หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา
3. หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการบูรณาการการสื่อสาร เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2560
4. หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชานวัตกรรมการสื่อสารการเมืองและการปกครองท้องถิ่น เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2560
5. หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการบริหารจัดการสื่อสาร เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2560
6. หลักสูตรนิเทศศาสตมหาบัณฑิต แขนงวิชานิเทศศาสตร์อาเซียน (หลักสูตรนานาชาติ)
7. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ฉบับปรับปรุง เปิดสอนภาคต้น ปีการศึกษา 2560
หลักสูตรของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้รับรอง คุณวุฒิของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทุกหลักสูตร
1. มุ่งผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์เพื่อตอบสนองการพัฒนาสังคมและประเทศ 2. วิจัย ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์เพื่อชุมชน สังคม และประเทศ 3. บริการวิชาการด้านนิเทศศาสตร์เพื่อบูรณาการความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศอย่างยั่งยืน 4. อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม 5. พัฒนาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล |
- เพื่อผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ที่มีคุณภาพควบคู่กับคุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพโดยจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากลและตอบสนองต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ
- เพื่อสร้างนวัตกรรมการวิจัยพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาองค์ความรู้สู่ความเป็นเลิศด้านนิเทศศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและสากล
- เพื่อบริการวิชาการและวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์แก่สังคม อันจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมฐานความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและสากล
เป็นผู้นำการจัดการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ด้วยนวัตกรรมการศึกษาทางไกลเพื่อโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน
ค่านิยมสาขาวิชานิเทศศาสตร์ : สร้างสรรค์ ฉับไว ร่วมแรงใจ ใฝ่คุณธรรม นำสิ่งใหม่ เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ CASTOU Culture ประกอบ
C : Creativity สร้างสรรค์ (สื่อสารอย่างสร้างสรรค์)
A : Agility ฉับไว (ทันต่อเหตุการณ์ การปรับตัว เท่าทัน คล่องแคล่ว)
S : Synergy ร่วมแรงใจ (มุ่งประโยชน์ต่อองค์กร ทำงานเป็นทีม การให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงาน)
T : Transparency ใฝ่คุณธรรม (รับผิดชอบต่อสังคม ทำงานด้วยข้อเท็จจริง ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม)
O : Originality นำสิ่งใหม่ (การมุ่งเน้นอนาคต การจัดการเพื่อนวัตกรรม การนำอย่างมีวิสัยทัศน์)
U : Ubiquitous Learning เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (มุ่งเน้นผู้รับบริการ การมีมุมมองเชิงระบบ เรียนรู้ตลอดชีวิต)