สารคดี

ประชาธิปกรำลึก: พระผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

18 พฤษภาคม 2567 21:48 | โดย นายปรีชา ขอวางกลาง




“…ถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือแล้วก็มีแต่จะโง่ลงทุกวัน เพราะมีความรู้อะไรขึ้นก็ไม่ต้องรู้

ถ้าอ่านหนังสือ แม้เปนนิทาน หรือ Novel เรื่องอ่านเล่น ก็คงจะได้รับความรู้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อยทุกทีไป เพราะฉะนั้นควรพยายามอ่านเสียบ้าง…”  



          ถ้อยความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม  แสดงให้เห็นว่าทรงตระหนักและเอาพระราชหฤทัยใส่ในการอ่าน  ทรงชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญนี้  แท้จริงไม่ใช่แค่เพียงพระโอรสบุญธรรมที่ได้ข้อคิด คติเตือนใจนี้  แต่ยังทำให้เราทุกคนได้ฉุกคิดถึงความสำคัญของการอ่านและการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี  แม้ว่ากาลเวลาจะเนิ่นนานเพียงใดก็ยังคงประจักษ์ว่าการอ่านนั้นยังมีความสำคัญ และจำเป็นต่อชีวิตเสมอ  และนี่คือที่มาของเรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้  “พาชมหนังสือส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7  พระผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

          ทำความรู้จักกับห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

          ก้าวเข้าสู่เดือนพฤษภาคม อันเป็นเดือนแห่งการสวรรคต (๓๐ พฤษภาคม) เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระผู้ทรงกอปรด้วยพระราชกรณียกิจ ที่ทรงคุณูปการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต  จึงขอนำเสนอหนังสือส่วนพระองค์  และทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ณ ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ณ อาคารบรรณสาร  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 



          ที่มาของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ สืบเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัย  ตามพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ที่ทรงเป็นนักอ่าน  และทรงยึดถือความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  อันเป็นหลักการสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต (life long education) มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินี  โดยเปิดดำเนินการตั้งแต่วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

       ในห้องดังกล่าวประกอบไปด้วยส่วนจัดแสดง 3 ส่วน คือ ห้องโถงกลางทุกท่านจะได้ชื่นชมพระบารมีและร่วมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์  ที่ทรงฉายในคราวพระราชพิธีอภิเษกสมรส  เมื่อทอดสายตาไปยังโถงทางด้านซ้ายทุกท่านจะได้รับทราบพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ  ซึ่งบอกเล่าผ่านภาพเหตุการณ์สำคัญตลอดรัชสมัย  ทั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร  ในคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี  ภาพพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ  รวมทั้งเอกสารจดหมายเหตุตลอดรัชสมัย  และในเมื่อเดินเข้าไปยังโถงทางด้านขวา  ก็จะพบห้องจัดแสดงสิ่งของส่วนพระองค์  และหนังสือส่วนพระองค์ที่จัดเก็บไว้ในชั้นหนังสือกว่าพันฉบับ

      

          หนังสือส่วนพระองค์ทรงคุณค่า รักษาผ่านกาลเวลาหลากสมัย 

          เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องหนังสือส่วนพระองค์  จะเห็นการตกแต่งของห้องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระเฉลียง  ในวังศุโขทัย  นิวาสถานที่ประทับของทั้งสองพระองค์  ที่ชวนให้หลงใหลด้วยบรรยากาศที่เงียบสงบ เชื้อเชิญให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้  หนังสือในห้องนี้ล้วนแต่ทรงคุณค่า  เพราะเป็นหนังสือส่วนพระองค์ที่ได้รับมอบจากคุณหญิงมณี  สิริวรสาร  มากกว่าพันรายการ  ทั้งนี้สำนักบรรณสารสารสนเทศได้จัดเก็บและรวบรวมบรรณานุกรมหนังสือส่วนพระองค์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างหลากหลาย  ทั้งทางด้านกฎหมายการเมืองการปกครอง ด้านการแพทย์พยาบาลสาธารณสุข ด้านวิชาการ  ด้านประวัติศาสตร์ดนตรีและศิลปะ  รวมทั้งเอกสารในด้านอื่น ๆ อย่างหลากหลาย สะท้อนถึงความสนพระราชหฤทัยในวิชาความรู้อย่างหลากหลาย หนังสือส่วนพระองค์บางส่วนยังนำมาอ่านและศึกษาค้นคว้าได้นับเป็นโอกาส  อันดีที่เราทุกคนจะได้ตามรอยพระราชจริยวัตรด้านการอ่าน และเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัย ที่มีต่อความรู้หลากหลายสาขา ที่ไม่อาจจะพรรณนาให้ครบได้ในครั้งเดียว





          นอกจากหนังสือส่วนพระองค์ดังกล่าวแล้วยังมีข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นตลอดรัชกาล และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น  หนังสือ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย เอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ ไมโครฟิล์ม ไมโครแจ็กเก็ต แผ่นเสียงและสื่อดิจิทัล เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาหาความรู้  และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้

       ป้ายบรรณสิทธิ์ และข้อคิดสอนใจ 



       เมื่อผู้เขียนได้เปิดหนังสือส่วนพระองค์  ก็สะดุดตากับถ้อยความภาษาในภาษาบาลีความว่า “โยคเว  ชายเตมูมิ  อโยคา ภูริสขโย” ในแผ่นป้ายเล็ก ๆ ที่ติดด้านหลังปกหนังสือ หรือบนใบรองปกที่เรียกว่าป้าย “บรรณสิทธิ์” (Bookplate)  ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า  หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือส่วนพระองค์โดยธรรมเนียมการติดป้ายบรรณสิทธิ์นี้เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป  ก่อนที่จะแพร่เข้ามาในประเทศไทย  โดยบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยเสด็จไปศึกษาต่อในต่างประเทศ   
   
กลับมาที่ถ้อยความในภาษาบาลี ความว่า “โยคเว  ชายเตมูมิ  อโยคา  ภูริสขโย”  ซึ่งแปลได้ว่า “ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบ (และ) เสื่อมสิ้นไปเพราะไม่ประกอบ” ข้อความนี้ได้สะท้อนให้เห็นพระราชจริยวัตร  และความสนพระราชหฤทัยในการอ่านหนังสือ  ทรงเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์  เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า  ปัญญานั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการประกอบเข้า  คือหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ  หากนิ่งเฉยไม่รู้จักแสวงหาความรู้  ปัญญานั้นก็ย่อมเปลี่ยนไป  ดังนั้นข้อความในป้ายบรรณสิทธิ์นี้ นอกจากจะทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว  ยังเป็นคติที่เร้าความคิดให้เราทุกคนเห็นคุณค่าของการอ่านและการเรียนรู้ตลอดเวลา

          บทส่งท้าย 

          ในวันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปีเป็นคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานกว่า 83 ปีแล้ว  แต่พระราชกรณียกิจทางการศึกษาที่ทรงมีประราชปณิธานในการจัดการศึกษาสำหรับปวงชนและการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับราษฎรยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด  รากฐานที่ทรงวางไว้  สร้างคุณูปการให้คนไทยเสมอมา  พระราชจริยวัตรด้านการอ่าน  ความสนพระทัยที่จะเรียนรู้ตลอดพระชนม์ชีพ  ยังคงเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจแห่งการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เราทุกคนจะร่วมรำลึกถึงอย่างมิเสื่อมคลาย 
  
          หากท่านใดมีความสนใจที่จะเข้าชมหนังสือส่วนพระองค์  พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  และข้อมูลสารสนเทศอื่น ๆ สามารถเข้าชมได้ที่ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี  ชั้น 2 ณ อาคารบรรณสาร  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดทำการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.