บทความ-นานาทรรศนะ

ความเห็นหลังรัฐประกาศเปลี่ยนแอปฯ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

18 พฤษภาคม 2567 19:34 | โดย นายวีรพล สีดำ, นางสาวชุษณา วิภาสรัตนากร

              


         


          การปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชันในการรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ซึ่งล่าสุดทางรัฐบาลประกาศว่าจะจ่ายเงินผ่านทางซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ชื่อว่าทางรัฐ แต่เงื่อนไขของนโยบายนี้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเหมาะสมกับผู้ค้าขายในตลาดนัดหรือไม่ ผู้เขียนจึงลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดหน้า มสธ.

         นางสาวสุนีย์ บุญเกิด อาชีพค้าขายเสื้อผ้า บอกว่าไม่สะดวกตรงที่ต้องกรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนและตั้งค่าใหม่เพราะยุ่งยากกว่าเดิม อีกทั้งโทรศัพท์มือถือไม่พร้อมที่จะโหลดแอปพลิเคชันใหม่ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องความจำไม่เพียงพอ “ส่วนตัวไม่โอเค เป็นแอปฯ เป๋าตังเหมือนเดิมจะสะดวกกว่า เรามีอยู่แล้ว ไม่ยุ่งยากในการยืนยันตัวตน และร้านค้าของเราเล็ก คงจะเข้าร่วมโครงการไม่ได้แม้ว่านโยบายรัฐจะสนับสนุน เพราะเงินทุนหมุนเวียนไม่ได้มีพร้อมเหมือนร้านใหญ่ ๆ แถมจำกัดพื้นที่ในการซื้อของตามที่อยู่ในบัตรประชาชน แต่เราต้องออกไปซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯ” สุนีย์กล่าว นอกจากนี้เธอยังเสริมว่า การชำระเงิน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าน้ำมันก็ควรทำได้ ในเมื่อรัฐบอกว่าจะช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ถ้าเป็นร้านค้าก็คงได้ประโยชน์มาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่อยู่ดี

         นายอาทิตย์ วันดี ประกอบอาชีพค้าขายถุงเท้า กล่าวว่าไม่มีปัญหาเรื่องแอปพลิเคชัน อย่างไรแล้วร้านก็ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เพราะก่อนหน้านี้แอปพลิเคชันเป๋าตังหรือคนละครึ่งก็ช่วยเพิ่มยอดขายได้ และไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการรับเงินล่าช้าหรือระบบแลกเงินดิจิทัล นอกจากนี้ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ เพราะเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ได้มองว่าโครงการนี้มีผลเสียอะไร เนื่องจากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มยอดขาย จึงอยากให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริง

          นายศิริพงษ์ ศรีประเสริฐ อาชีพค้าขายเสื้อผ้า บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแอปพลิเคชัน มองว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงในการปรับเปลี่ยนและมีความยุ่งยากในการลงทะเบียนด้วยตัวเอง เพราะอายุเยอะจึงมองว่าไม่สะดวก ถ้าตนเองได้ก็คงเป็นประโยชน์ในการใช้จ่ายรายเดือน เพราะถ้าแจกแล้วใครก็อยากได้ทั้งนั้น แค่ต้องแจกให้ครอบคลุมกว่านี้ อีกทั้งถ้าเป็นไปได้ก็อยากรับเงินสด ทั้งนี้ถ้ามองภาพรวมก็ไม่ควรแจก เพราะจะทำให้มีหนี้เยอะและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

          นายภัครพล วันเพ็ญ อาชีพค้าขายรองเท้า กล่าวว่าอาจไม่ชินกับแอปพลิเคชันใหม่ ควรใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังเหมือนเดิมดีกว่า ไม่ต้องมาเรียนรู้ใหม่ อย่างแอปพลิเคชันเป๋าตังก็ลงทะเบียนไว้แล้ว ถ้ามีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับร้านค้าก็น่าจะเข้าร่วม เพราะมีผลต่อยอดขายจากการคนที่ได้รับเงินมาใช้จ่าย ทั้งนี้ก็มีความกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการหมุนเงิน เกรงว่าเงินดิจิทัลจะมีความล่าช้า เพราะตนเองไม่ได้รู้ลึกในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังบอกว่า ตนเองไม่กังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านขอบเขตของพื้นที่การใช้จ่าย รวมถึงข้อจำกัดในการใช้จ่ายบางประเภท เช่น ค่าน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ หากมีนโยบายนี้ก็จะช่วยให้มีการหมุนเวียนเงิน

         นางทวีรัตน์ พงษ์นัย อาชีพค้าขายกางเกง แสดงความคิดเห็นว่า “ทำไมไม่ใช้แอปฯ เดิม แอปฯ ใหม่ยุ่งยาก แล้วถ้าเปลี่ยนนายกก็ต้องเปลี่ยนแอปฯ ใหม่ ต้องใช้งบเพิ่มอีกไหม หรือต้องใช้ทั้งอันเก่าและอันใหม่พร้อมกัน” ทวีรัตน์ยังบอกอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าเงินดิจิทัลนั้นไม่มีความโปร่งใส เพราะสุดท้ายแล้วเงินจะไปรวมอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ร้านของตนเองเป็นร้านขนาดเล็ก คงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนรายวัน และเงินดิจิทัลอาจช่วยได้แค่ระยะสั้น ๆ จึงควรยกเลิกโครงการนี้แล้วนำงบไปใช้ประโยชน์กับอย่างอื่น เช่น ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ

          จากการสอบถามความคิดเห็นพ่อค้าแม่ค้าเรื่องดังกล่าว ทั้งประเด็นของการแจกเงินและเงื่อนไขอื่น ๆ ของนโยบายนี้ แม้จะมีคนที่รอเข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมโครงการ ผู้เขียนพบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้แอปพลิเคชันใหม่ เนื่องจากปัญหาความยุ่งยากในการลงทะเบียนและใช้งานไม่ถนัด รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ค่อยตอบโจทย์ด้านความสะดวก และไม่เอื้อประโยชน์ต่อร้านค้าขนาดเล็ก ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากนำเสนอความคิดเห็นของประชาชนไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

เกษมหลังเกษียณ การวางแผนการเงินหลังเกษียณสำคัญกว่าที่คิด

18 พฤษภาคม 2567 20:27 | โดย นางสาวจันจิรา จันสาขะ, นางสาวพรพิสุทธิ์ มั่นคง


          ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ จึงมีความนิยมเพิ่มขึ้น “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ก็เช่นกัน แม้จะซื้อแล้วไม่ได้ใช้ในทันที แต่การวางแผนการเงินหลังเกษียณแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณจึงถูกจับตามองจากคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าวัยไหน ๆ ก็มองอนาคตไปถึงชีวิตหลังเกษียณกันทั้งนั้น  การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหมายถึงการมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งคือปัญหาอัตราการเกิดต่ำ เมื่อประเทศไทยมีประชากรใหม่น้อยลงทุกที บวกกับพิษเศรษฐกิจและภาระค่าใช้จ่าย หลายคนจึงไม่มีลูกเพราะไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ด้วยเหตุผลดังกล่าว พวกเขาจึงหันมาตระหนักถึงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณด้วยตนเองโดยไม่หวังพึ่งใคร

นางสาวลัดดา เดบอก

          ผู้เข้าชมมหกรรมการเงินครั้งที่ 24 ก็สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าว นางสาวลัดดา เดบอก สาวโสดวัย 42 ปี ผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง เล่าว่าตนเองอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีบุตรหลาน และออมเงินจากการเก็บเล็กผสมน้อยกับธนาคาร เพื่อจะได้ไม่ลำบากในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยเธอยังกล่าวเสริมอีกว่าควรเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย หากตนเองเริ่มต้นเร็วกว่านี้ก็คงจะมีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำไปแล้ว 

นางสาวธีระพร แก้วสิน

          นางสาวธีระพร แก้วสิน สาวธนาคารวัย 43 ปี บอกว่าโดยส่วนตัวแล้ว เนื่องจากตนเองประกอบอาชีพพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง จึงซื้อสลากของที่ทำงานเพื่อออมเงิน ถึงแม้จะขาดทุนอยู่บ้าง แต่ต้องการวางแผนการเงินเพื่อลูก ๆ และครอบครัว จึงเตรียมความพร้อมเรื่องเงินในอนาคต อีกทั้งยังเผยข้อมูลสถิติว่า คนที่ออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณส่วนใหญ่เพิ่งจะเริ่มทำงาน โดยคนกลุ่มนี้มองว่าไม่ควรรอจนใกล้ถึงวัยเกษียณ ถ้าเริ่มตอนอายุ 40-50 ปีก็ไม่ทันแล้ว และถ้าไม่ได้รับราชการหรือทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ควรวางแผนด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 20-30 ปี 

นายเฉลิมเกียรติ ภักดีชัย

          อีกมุมหนึ่งของหนุ่มข้าราชการวัย 30 ปี นายเฉลิมเกียรติ ภักดีชัย เล่าว่าตนเองรับราชการอยู่แล้ว จึงออมเงินด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งสามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะออมเงินอย่างไร หากออมเพิ่มก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแสดงความคิดเห็นว่าคนสมัยนี้ออมเงินน้อย ถ้าไม่ถูกบังคับอย่างการจ่ายค่าประกันสังคมก็จะไม่ออมเงินเลย คาดหวังว่าทายาทจะให้เงินใช้ไปจนแก่เฒ่า แต่คนที่ออมเงินส่วนใหญ่จะเป็นห่วงอนาคตของตนเองมากกว่านั้น นอกจากนี้ยังอธิบายว่า การออมเงินเป็นแค่ขั้นแรกเริ่มเท่านั้น หากอยากมีเงินใช้เพียงพอหลังเกษียณต้องลงทุนเพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องทำงาน 

นางสาวเยาวลักษณ์ จินดานุรักษ์

          ส่วนนางสาวเยาวลักษณ์ จินดานุรักษ์ ตัวแทนประกันวัย 28 ปี กล่าวว่าควรเริ่มออมเงินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยออมตามกำลังทรัพย์ของตนเอง และแบ่งสันปันส่วนให้เหมาะสม เพื่อจะได้นำเงินไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ตามต้องการ โดยการออมมีหลายประเภท เช่น ระยะสั้น ระยะยาว หรือประกัน ซึ่งประกันก็มีหลายประเภทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประกันออมทรัพย์แล้วควรมีประกันสุขภาพควบคู่กันมาด้วย นอกจากนี้ยังเสริมว่า การลงทุนถูกที่ถูกทางจะช่วยให้ผลกำไรงอกงาม ในยุคนี้คนส่วนใหญ่ออมเงินกันเร็วมาก โดยเฉพาะพ่อแม่มักจะออมเงินไว้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตของลูกรวมถึงตนเองด้วย

          เห็นได้ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเตรียมความพร้อมเพื่อความสุขสบายในอนาคต การวางแผนอนาคตไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็สำคัญ โดยเฉพาะการวางแผนอนาคตหลังเกษียณ เมื่อถึงคราวโรยราแล้วจะมีชีวิตเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับตนเองในขณะนี้ หากยังจับจ่ายใช้สอยทุกวันแต่ให้ความสำคัญกับการเงินในอนาคตไม่มากพอ รู้ตัวอีกทีอาจสายเกินไปก็ได้ 

พ่อค้าแม่ค้าโวย! ค่าใช้จ่ายพุ่งสูง

18 พฤษภาคม 2567 21:41 | โดย นายพงศกร กาญจนโกสุม, นายวินัย วงษ์กาวิน, นายวีรพล สีดำ

          วิกฤติโควิด-19 เมื่อ พ.ศ. 2563 ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านมา 4 ปีแล้ว แต่รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวช้าลง รวมถึงสงครามที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้าแพงเมื่อเทียบกับรายได้ นอกจากนี้เว็บไซต์ Policy Watch ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว แต่อัตราการเติบโตยังคงต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

          เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่าง แต่ไม่ว่าจะพบปัญหาความยากจน หรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไร ในเมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาจากสินค้าที่มีราคาที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน ปัญหาการใช้ชีวิตหรือทำมาหากิน รวมถึงความคิดเห็นว่าปัญหาเกิดจากอะไร หรือคาดหวังการแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างไร 

          “ป้าขายมานานกว่า 10 ปีแล้วลูก บอกเลยว่าช่วงนี้ของแพงขึ้นมากจริง ๆ” นางปณิชณัช ช่างเพชร เจ้าของร้านขายผลไม้และสวนผลไม้กล่าว โดยบอกว่าราคาผลไม้เพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 บาทต่อกิโลกรัม ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนขายชมพู่ได้กำไร 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 80 บาท หรือฝรั่งที่เคยขายได้ 100 บาทต่อ 3 กิโลกรัม ตอนนี้ก็ลดลงเหลือ 50-60 บาทเท่านั้น แม้จะไม่ถึงขั้นขายไม่ได้อย่างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงหนึ่งที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มีราคาสูงที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว

 

นางปณิชณัช ช่างเพชร


          ในด้านของนางดวงนภา นุชมี เจ้าของร้านขายผักและสวนผักกล่าวว่า ช่วงนี้ผักแพงมาก แต่ในทางกลับกันก็ขายไม่ได้กำไรเลย นางดวงนภามองว่า สาเหตุหนึ่งที่ผักแพงในช่วงนี้เป็นเพราะปัญหาอากาศที่ร้อนจนเกินไป ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาน้ำที่ใช้เพาะปลูกผักเริ่มเค็ม ผักหลาย ๆ ชนิดที่เพาะปลูกตายไปเป็นจำนวนมากในฤดูร้อนที่ผ่านมา การลงทุนก็เลยสูญเปล่า ซึ่งบ่อยครั้งต้องแก้ปัญหาด้วยการรับผักมาขายต่ออีกทอดหนึ่งแทน ทำให้รายได้น้อยลงมาก ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการช่วยเหลือที่ได้รับกับความคาดหวังที่มี นางดวงนภาตอบว่า ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือใด ๆ เลย และไม่ได้คาดหวังการช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐบาลอีกแล้วด้วย

 

นางดวงนภา นุชมี


          ในขณะเดียวกัน นายสนั่น พ่วงจันทร์ หัวหน้ากลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เจ้าของสวนผัก และนางวรรษมล พ่วงจันทร์ ผู้เป็นภรรยา แม้จะตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบเรื่องปัญหาต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น เพราะผักที่นำมาขายนั้นเพาะปลูกที่บริเวณแถว ๆ ลำคลอง จากนั้นก็เสนอมุมมองว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาน่าจะมาจากอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ และเมื่อถามถึงความต้องการและคาดหวังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแล้วนั้น นายสนั่นตอบว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องการจ้างงาน และจุนเจือคนไทยในเรื่องปัญหาหนี้สินมากกว่านี้

          “ลุงว่าปัญหาทุกอย่างดูจะพ่วงกันไปหมดเลย หลัก ๆ ก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องรากฐานรายได้ของคนไทยให้มั่นคงก่อน ช่วงนี้รายได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ กลายเป็นว่าคนไปเป็นหนี้กันหมด แถมยังมีเรื่องการจ้างงานที่ลดลงเยอะมาก นอกจากค่าใช้จ่ายเยอะแล้วยังไม่มีรายได้กันอีก ดูอย่างครอบครัวในปัจจุบันนี้สิ คนอยากมีลูกน้อยลงแบบนี้เพราะปัญหาค่าครองชีพ หรืออย่างวิสาหกิจชุมชนเองก็ไม่ได้ขายของกันมาปีสองปีได้แล้วมั้ง บอกตรง ๆ ว่าน่าเป็นห่วงคนไทยที่ไม่มีอาชีพในตอนนี้มากนะ” นายสนั่นกล่าว

 

นายสนั่น พ่วงจันทร์


          ทางด้านผู้ซื้อของมาขายอย่าง นางสิวพร สองผ่อง เจ้าของร้านขายมะนาว แสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้อาจเป็นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ที่ร้อนที่สุดตั้งแต่เจอมา บวกกับภัยแล้งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยฝนหลวงแบบเมื่อก่อน แม้จะไม่ทราบว่าต้นทุนในการเพาะปลูกมะนาวเป็นเท่าไร เพราะเป็นธุรกิจแบบซื้อมาขายไป แต่ก็ต้องขายสินค้าในราคาแพงเพราะหายาก

          เมื่อถามถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหา นางสิวพรตอบว่าไม่ได้คาดหวังอะไรจากรัฐบาลแม้แต่เงินดิจิทัล 10,000 บาท และไม่ได้หวังให้แก้ปัญหาทุกอย่างแบบเร่งด่วน แต่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาไปทีละอย่างแบบมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งปัญหาที่อยากจะให้แก้ เช่น การสร้างเสถียรภาพและความเป็นธรรมแก่เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ภัยแล้ง ฯลฯ 

 

นางสิวพร สองผ่อง


          ทางด้านนายพีรวิชณ์ จอมขันเงิน และภรรยา ผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารข้างทางได้กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30% และไม่ได้ขึ้นราคาหรือลดปริมาณของอาหารเลย นั่นหมายความว่ารายได้ต่ออาหาร 1 จานก็จะลดลงเช่นกัน เมื่อมองถึงต้นตอปัญหาแล้วนายพีรวิชณ์มองว่าเกิดจากภัยแล้งและพ่อค้าคนกลางเสียส่วนใหญ่ โดยเมื่อถามถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหาของรัฐบาลแล้วนั้น นายพีรวิชณ์ตอบว่า ไม่เคยหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐบาลเลย กระนั้นก็ได้แสดงความเข้าใจถึงปัญหารัฐบาลเอื้อนายทุนเหมือนกัน

          “เอาจริง ๆ เรื่องนายทุนเอื้อกันเองเนี่ยพี่ก็เข้าใจนะ เพราะยังไงซะพวกเราก็ต้องช่วยพวกเดียวกันอยู่แล้ว สำหรับพี่แล้ว การไปให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มันเสียแรงเปล่า ตอนนี้ขอแค่ค้าขายดีเท่านั้นก่อน” นายพีรวิชณ์กล่าว

 

ภรรยาของนายพีรวิชณ์ จอมขันเงิน


          เช่นเดียวกันกับ นางสาวศศิธร แซ่ต้า เจ้าของร้านเต้าหู้ทอด ที่กล่าวว่าในช่วงที่หลาย ๆ โรงเรียนต่างก็เปิดเทอมแบบนี้รายได้ลดลงอย่างมาก โดยมองว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะลูกค้าหลาย ๆ คนเป็นผู้ปกครองที่มีบุตรแล้ว ต้องเจียดเงินไปกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในช่วงเปิดเทอม และจำนวนลูกค้าที่มาอุดหนุนสินค้าก็ลดลง ส่วนเรื่องต้นทุนของวัตถุดิบต่าง ๆ แพงขึ้นจริง โดยเฉพาะก๊าซหุงต้มที่ถึงกับต้องออกปากย้ำเลยว่า ถ้าเป็นไปได้ควรลดราคาเพราะแพงขึ้นมากจริง ๆ และส่วนตัวแล้วไม่มองว่ารัฐบาลให้การช่วยเหลือใด ๆ นอกจากนี้นางศศิธรยังกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะจัดว่าเป็นปัจจัยในการใช้ชีวิตของมนุษย์หนึ่งคนจริง ๆ แต่กลับมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โอกาสที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็น้อยลงไปด้วย

 

นางสาวศศิธร แซ่ต้า


          “เรื่องนายทุนอะไรเทือกนี้ผมว่าเขาก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ ผมว่านะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการพึ่งพากันมากกว่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ เรายังต้องการการจ้างงานจากพวกเขาเยอะเหมือนกัน อันนี้ผมเข้าใจได้นะเรื่องเงินทุนอะไรพวกนี้น่ะ” นายภูรินทร์ วุฒิสร เจ้าของร้านน้ำมะพร้าวปั่นได้แสดงมุมมองถึงเรื่องปัญหานายทุน โดยมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องของการพึ่งพากันมากกว่า และได้ยืนยันว่าเงินทุนต่อมะพร้าว 1 ลูกสูงขึ้นจริง ๆ จากเมื่อก่อนราคาลูกละ 10-20 บาท แต่ปัจจุบันราคาขึ้นไปถึง 30-40 บาทไปแล้ว เป็นต้น เช่นเดียวกับราคาน้ำตาล สินค้าอีกหนึ่งอย่างที่ร้านนำมาวางขาย เมื่อถามถึงความคาดหวังในการแก้ปัญหาของรัฐบาล นายภูรินทร์ตอบว่าอยากให้ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และเป็นสาเหตุให้ต้นทุนสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ด้วย

 

นายภูรินทร์ วุฒิสร


          “ปกติก็ขายมานานหลายปีแล้ว เท่าที่จำได้น่าจะสิบปีแล้วมั้ง บอกเลยว่าตอนนี้ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่าขนส่งแพงขึ้นพอสมควร บอกนายกเลยนะว่าตอนนี้ของแพงมาก” นายสุรชัย รัตนพิทักษ์ ตอบคำถามถึงปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

 

นายสุรชัย รัตนพิทักษ์

รีไซเคิลขยะ เพื่อความยั่งยืน

18 พฤษภาคม 2567 20:42 | โดย นายธีระพจน์ ไถ้เงิน, นายวินัย วงษ์กาวิน
          หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อทุกชีวิตบนโลกนี้คือ "ปัญหาสิ่งแวดล้อม"   ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่าเป็นปัญหาในระดับมหภาคที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรืออื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบกับมนุษย์เท่านั้น แต่หากระบบนิเวศเสียหาย เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ทรัพยากรขาดแคลน ก็ย่อมเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

          สัตว์จำนวนมากได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ตั้งแต่การบาดเจ็บจากการที่ร่างกายเข้าไปติดกับขยะหรือชิ้นส่วนพลาสติก เช่น หลอดพลาสติกติดในจมูกของเต่าทะเล สัตว์ทะเลบางชนิดเข้าใจผิดว่าถุงพลาสติกเป็นแมงกะพรุน หรือเศษพลาสติกปะปนไปกับอาหารที่กินโดยไม่ตั้งใจ จนทางเดินอาหารอุดตันหรือเจ็บป่วยจากสารอาหารเป็นพิษที่สะสมในร่างกาย อีกทั้งเศษขยะพลาสติกที่ปกคลุมพื้นที่ท้องทะเลอาจขัดขวางกระบวนการตามธรรมชาติ เช่น การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายและพืชน้ำตื้นที่เป็นแหล่งอาหารและออกซิเจน การลดลงของพืชน้ำเหล่านี้จึงส่งผลเสียต่อสัตว์ที่พึ่งพาพวกมันในการหาอาหารและการอยู่อาศัย เพราะลดคุณภาพน้ำ และทำลายสภาพแวดล้อมในการผสมพันธุ์ของสัตว์ทะเล ซึ่งขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอย่างขาดความรับผิดชอบ



          ผู้เขียนจะพามาชมนวัตกรรมที่ช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นจิตสำนึกในการรักษ์โลก ซึ่งจัดแสดงในงาน Money Expo 2024 Bangkok ที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยผู้อ่านจะได้ทำความรู้จักกับ Qualy แบรนด์สัญชาติไทยที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์จากพลาสติกและวัสดุเหลือใช้ ซึ่งถูกแปรรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ วัน

          หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ Willy whale container กล่องใส่ของอเนกประสงค์ดีไซน์วาฬเพชฌฆาต  จากขวดน้ำพลาสติก PET (ขวดพลาสติกบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากปัญหา จนนำไปสู่ไอเดียการออกแบบสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งรูปทรงที่น้อยแต่มากด้วยเอกลักษณ์ของความเป็นวาฬ หรือเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่มีความยืดหยุ่นสูง เพราะสามารถใส่ของได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอ สำลี ช้อนส้อม รีโมต ฯลฯ และดีไซน์นี้มีดีมากกว่าการเป็นอุปกรณ์จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะรูปแบบและสีสันสวยงาม จึงสามารถนำไปตกแต่งบ้านได้ทุกสไตล์เหมือนอาร์ตทอยชิ้นหนึ่ง ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อโลก 100% เพราะนอกจากจะช่วยลดขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่แม่น้ำแล้ว ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้โดยไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม



          จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากการมองปัญหาในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตตามเทรนด์และมาไวไปไว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และในการซื้อขายทุกครั้งก็ตามมาด้วยผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะของที่บริโภคไปแต่ละชิ้นอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามความเป็นจริง เมื่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกใช้จนหมดไปเรื่อย ๆ จึงเกิดแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบของขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดขยะขวดพลาสติก 17 ขวดต่อ 1 ชิ้น และช่วยบอกเล่าปัญหาที่ “พี่ใหญ่แห่งท้องทะเล” กำลังโดนคุกคามอย่างหนัก 

          สรุปแล้วสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์เรานำมาจากธรรมชาติช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราดำรงอยู่ได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์ต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสติ รวมทั้งอนุรักษ์อย่างรู้คุณค่า ถ้ายังใช้อย่างขาดสติ แน่นอนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติมากขึ้น และวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านั้นอาจหมดไปจากโลกใบนี้ จนนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบของมนุษย์ต่อไปภายภาคหน้า