การเมือง

'เศรษฐา' ประกาศมั่นใจได้เก้าอี้นายกฯ

13 พฤษภาคม 2566 | โดย สุธิวัฒน์ ครุฑสุธา และณัฐหทัย สิริมะลิพงศ์
'เศรษฐา ทวีสิน 'แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย ประกาศลั่นกลางเวทีปราศรัย อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 วอนประชาชนเลือกทั้งคน-พรรค เลือกเพราะความชัวร์ ไม่ใช่เพราะความกลัว
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 12 พ.ค.66 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี พรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยใหญ่ เลือกเพื่อไทยแลนด์สได์ ประเทศเปลี่ยนทันที โดย นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีปราศรัยว่า อีกสองวัน จะเป็นวันที่จารึกบทบาทใหม่ของประเทศ เป็นวันที่พี่น้องคนไทยก้าวออกจากหลุมดำ ที่ขังเรามา 8 ปี พรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยไทยรักไทยดูแลพี่น้องประชาชนมาถึง 4 ปี ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทย ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แก้ปัญหาตั้งแต่ระดับโครงสร้างในภาพใหญ่ การแก้ปัญหาระยะสั้น จนถึงระยะยาว ประกอบกัน จนเป็นโรดแมปของการพัฒนาประเทศ ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประการแรก พี่น้องจะเห็นรัฐบาลที่เข้ามาบริหารอย่างจริงจัง ไม่ใช่บริหารแบบธุรการเหมือนที่ผ่านมา เราจะมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายที่ชัดเจน วางระบบไว้สำหรับคนรุ่นหลังให้เดินต่อไปได้ รวมถึงจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำตัวเป็นนายประชาชน จะไม่ยอมให้มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเด็ดขาด และต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชน จะไม่โค่นล้มรัฐธรรมนูญ และไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก
นายเศรษฐา กล่าวว่า มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อีก ทำให้เป็นพรรคเดียวที่มีโอกาสทำให้ ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชน และจะไม่ทรยศต่อคนที่ร่วมอุดมการณ์ จะรับฟังทุกเสียงของประชาชน ภาพฝัน ความหวัง และนโยบายที่ได้กล่าวไปในตลอด 75 วันที่ ตนลงพื้นที่เป็นไปได้จริง มีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ในวันนั้นพรรคเพื่อไทยพลาดไปเพียง 17 ที่นั่ง ไม่เช่นนั้นฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นผู้ชนะ จะต้องไม่ปล่อยให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกแบบไร้ยุทธศาสตร์ ขอวิงวอนจากใจ อย่าเลือกเพราะความกลัว แต่ให้เลือกเพราะความชัวร์ว่าพรรคเพื่อไทยทำได้จริง และในท้ายที่สุด นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศว่า ขอเป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความมืดมน ขอให้ทุกคน ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ทั้งสองใบ ให้จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ

❝อุ๊งอิ๊ง❞ ลั่นยินดี ถ้า ❝ทักษิณ❞ กลับมาต้องติดคุก แต่ขอใช้มันสมองของพ่อพาคนไทยพ้นวิกฤติ

13 พฤษภาคม 2566 | โดย -
หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เผยถึงพ่อทักษิณ ชินวัตร กลางเวทีปราศรัยใหญ่พรรคเพื่อไทย อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี ถ้าทักษิณกลับมาติดคุกจะเข้าไปขอคำปรึกษา เชื่อว่าพ่อจะช่วยคนไทยฝ่าวิกฤติได้
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี พรรคเพื่อไทยได้มีการจัดเวทีปราศรัยภายใต้แนวคิด เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ประเทศไทยเปลี่ยนทันที นำโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่ผู้สมัครนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหัวหน้าพรรค และผู้สมัคร ส.ส.พรรคพรรคเพื่อไทย จากทุกเขตของกรุงเทพฯ อาทิ นายวัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย เขตบางบอน ร่วมปราศรัยครั้งใหญ่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีประชาชนหลั่งไหลมาร่วมงาน กว่าห้าพันคน รวมถึงคนดังอย่าง นายคชาภา ตันเจริญ หรือมดดำ พิธีกรชื่อดัง
ทันทีที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยทั้งสองคนคือ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร-นาย เศรษฐา ทวีสิน เดินทางมาถึงบริเวณหน้างาน ประชาชนต่างปรบมือส่งเสียงต้อนรับทั้งอิมแพ็ค อารีน่าฯ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักเป็นอย่างมาก
โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ก่อนจะมาปราศรัยได้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้นว่า ถ้าทักษิณกลับมาติดคุก ขณะที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล อยากจะขอคำแนะนำจากนายทักษิณ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนคนไทยผ่านพ้นวิกฤติไปได้ นายทักษิณ บอกด้วยว่ารู้สึกซึ้งใจที่สมัยทำพรรคไทยรักไทย ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาสม่ำเสมอ
น.ส.แพรทองธาร ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมี แคนดิเดตหรือว่าที่ผู้สมัครนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ถึง 3 คน ว่า “เพราะเจอปัญหาอะไรมา และถูกกลั่นแกล้งเคยถูกยุบพรรคมาแล้ว พรรคเพื่อไทย เราทำงานเป็นทีม หากคนใดถูก กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตัดสิทธิ์ คนที่ยังอยู่สามารถไปทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนได้สำเร็จ ยืนยันว่าคิดถูกแล้ว ดูจากเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา” พร้อมยืนยันว่าจะสู้เคียงข้างประชาชนแม้จะยุบพรรคไปแล้ว 1 ครั้ง ส่วนนโยบายก็ครอบคลุมทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปรับฐานเงินเดือนระดับปริญญาตรี

❝ปัญหาที่ชาวนนท์อยากให้รัฐบาลแก้ไข❞

13 พฤษภาคม 2566 | โดย -
ในอีกไม่กี่วันจะมีการเลือกตั้งครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น ประชาชนล้วนคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานจนส่งผลถึงการใช้ชีวิตของผู้คนจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข ผู้สื่อข่าวจึงได้มีการลงพื้นที่สำรวจความเห็นของประชาชนชาวนนทบุรีช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ว่าอยากให้รัฐบาลชุดใหม่มาแก้ไขปัญหาเรื่องใด
นายสมชาย ม่วงลาย
นางดวงใจ กาญจนาชัยวงศ์
นายอรรถพร ทวีสุข
นายสมชาย ม่วงลาย อายุ 58 ปี อาชีพรับจ้างทำสวน มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอยากให้คนรุ่นใหม่มาช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะทำงานรับจ้าง ค่าแรงต่อวันไม่คุ้มกับงานที่ทำ
นางดวงใจ กาญจนาชัยวงศ์ อายุ 44 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท อยากให้แก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ และสวัสดิการผู้สูงอายุและการยกระดับคุณภาพชีวิต เพราะมองว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต และเบี้ยเลี้ยงคนชราเพียงเดือนละ 600 - 800 บาท ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่อเดือน
นายอรรถพร ทวีสุข อายุ 22 ปี อาชีพ พนักงานร้านอาหาร อยากให้แก้ไขปัญหาการเงินให้ดีขึ้นและเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้มากตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากมีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว และเงินเดือนขั้นต่ำไม่พอใช้
นางสาวเจนจิรา พร้อมสิงห์ วัย 27 ปี อาชีพคนขายลอตเตอรี่ กล่าวว่าอยากให้แก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ราคายางพาราที่ตกต่ำ เพราะที่บ้านทำอาชีพกรีดยางพาราขาย ในรัฐบาลที่ผ่านมาเคยชูนโยบายราคายางพารา กิโลกรัมละ 80 -120 บาท แต่ไม่สามารถทำได้ เลยทำให้ผันตัวมาขายลอตเตอรี่เพื่อดำรงชีพ
นางสุนันทา สีสะอาด อายุ 73 ปี อาชีพ แม่ค้า กล่าวว่า อยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะ ราคาข้าวของแพงขึ้น ไม่มีเงินลงทุน และปรับราคาขายขึ้นได้ยาก เพราะคนซื้อจะลดลง เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน
นายเอกนรินทร์ ดอนคูณ อายุ 36 ปี อาชีพไรเดอร์ อยากให้แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง และน้ำมันแพง ในขณะนี้คนมีการสั่งซื้อของผ่านทางไรเดอร์น้อยลง เนื่องจากมีราคาที่แพงกว่าการไปซื้อหน้าร้าน จึงทำให้มีรายได้ลดน้อยลง ทำให้ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าอาหาร และค่าน้ำมันเอง
นางทัศนีย์ ทาบ้านฆ้อง วัย 56 ปี พนักงานสหกรณ์ร้านค้า มสธ. ต้องการให้พัฒนาปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสาธารณสุข เช่น เรื่องการตรวจสุขภาพฟรีด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพราะตอนนี้อายุมากขึ้น มีปัญหาสุขภาพตามมาและมีค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องนมโรงเรียนฟรี 365 วัน เป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่ายทางครอบครัว
จากการที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ พบว่า ชาวนนทบุรีส่วนใหญ่อยากให้แก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องพบเจอ โดยหลายคนมองว่า ถ้ารัฐบาลหน้าแก้ปัญหาได้ จะส่งผลดีต่อการดำรงชีพของประชาชนทุกคน

บทวิเคราะห์ ❝ขวาสุดขั้ว❞ กับ ❝ซ้ายสุดโต่ง❞

13 พฤษภาคม 2566 | โดย ธนะโรจน์ สิทธาธีระวัฒน์
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ยุบสภา ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต กกต.กำหนดให้เป็นวันที่ 3-7 เมษายน 2566 และวันรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค คือวันที่ 4-7 เมษายน 2566 โดยกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ใกล้จะถึงนี้
ประจวบเหมาะกับช่วงปลายมีนาคมจนถึงต้นเมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีหนังสือออกใหม่เกี่ยวกับการเมืองไทยวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หนึ่งในนั้นคือหนังสือ เรื่อง ขวาสุดขั้ว: ระบอบคนดีกับการเมืองยุคประชาธิปไตยกลับหลังหัน ซึ่งเป็นผลงานเขียนที่ปรับเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ของ วสุชน รักษ์ประชาไท เรื่อง พัฒนาการกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วในขบวนการต่อต้านทักษิณ จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแค่อ่านชื่อเรื่องและเห็นภาพหน้าปก ก็คงเดาได้ไม่ยากว่า เนื้อหาในเล่มจะพูดถึงเรื่องอะไรกันแน่
ที่ผ่านมา เรามักรับรู้กันดีว่า ในทางการเมือง ฝ่ายขวาสุดขั้วมักจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายซ้าย สุดโต่งมักจะเป็นฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้จักฝ่ายอนุรักษนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะคนฝ่ายนี้มีส่วนที่ทำให้เกิดการพลิกผันทางการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ที่จบลงด้วยการรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งการรวมตัวกันของมวลมหาประชาชน ในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่เมื่อสิ้นเสียงนกหวีด ก็จบลงด้วยการรัฐประหาร 2557 เช่นเดียวกัน
การมีหนังสือเล่มนี้ออกมาในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ก็ทำให้เรา ในฐานะคนที่อยากรู้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมคือคนกลุ่มใด จุดเริ่มต้นก่อกำเนิดขึ้นเมื่อใด โดยใคร มีการบ่มเพาะความคิดและอุดมการณ์มาตั้งแต่เมื่อใด ในลักษณะใด ด้วยเหตุผลกลใด ในช่วง 17 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษนิยมถึงได้มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน พูดง่าย ๆ ว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะช่วยทำให้เรารู้ที่มา เพื่อที่จะรู้ที่ไปของการเมืองไทยได้อย่างกระจ่างแจ้งมากยิ่งขึ้น
ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก้างขวางคอชิ้นโตของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว ก็ยังคงเป็นพรรคอนุรักษนิยมสุดขั้วที่มีนายทหารที่ผันตัวมาเล่นการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอย่างแข็งแกร่งไม่สั่นคลอน หากคุณเคยได้ยินว่า “เรารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยิ่งชีพ ใครจะมาทำร้ายทำลายไม่ได้ และต้องให้ “คนดี” ปกครองบ้านเมือง หรือเสียงของคนไม่อาจเท่าเทียมกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น เราจะต้องกำจัดระบอบทักษิณออกไปให้สิ้นซาก” คุณก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ก้างขวางคอชิ้นโตชิ้นนี้เหนียวแน่นคงทนและแหลมคมจนทำลายล้างได้ยากมากมายทีเดียว
เมื่อมาดูจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่ามีมากถึง 52,241,808 คน โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำข้อมูลช่วงชั้นอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สส.ปี 2566 โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงชั้น ได้แก่
กลุ่มที่ 1. เจเนอเรชั่น Before Baby Boommer หรือกลุ่มคนที่เกิดก่อน พ.ศ. 2491 จำนวน 2,956,182 คน
กลุ่มที่ 2. เจเนอเรชั่น Baby Boommer หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2491-2505 จำนวน 9,326,314 คน
กลุ่มที่ 3. เจเนอเรชั่น X หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2506-2526 จำนวน 20,882,235 คน
กลุ่มที่ 4. เจเนอเรชั่น Y หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2527-2546 จำนวน 17,983,355 คน
กลุ่มที่ 5. เจเนอเรชั่น Z หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547- ก่อนวันที่ 16 พ.ค. 2548 จำนวน 1,093,722 คน
เมื่อเอาคนเจเนอเรชั่น X มารวมกับคนเจเนอเรชั่น Baby Boomers และคนเจเนอเรชั่น Before Baby Boommers จะมีจำนวนมากถึง 33,164,731 คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนเจเนอเรชั่น Y และเจเนอเรชั่น Z รวมกัน ทำให้น้ำหนักของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ มีโอกาสเลือกพรรคอนุรักษนิยมมากกว่านั่นเอง
การแบ่งขั้วทางการเมืองออกเป็นสองฝ่ายนี้ เริ่มมีมาชัดเจนในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา โดยก่อร่างสร้างตัวจากกลุ่มสันติอโศก ที่ผันตัวจากดินแดนแห่งพุทธสู่สนามการเมือง และกลุ่มนายทหารอาวุโส ที่เป็นผู้ก่อร่างสร้างเครือข่ายนายทหารการเมือง ซึ่งหากจะลงลึกในรายละเอียด อาจต้องตามหาอ่านเนื้อหาแบบเจาะลึกได้ในหนังสือเล่มนี้ แต่เท่าที่บอกไป ก็คงพอทำให้คนที่สงสัยใคร่รู้ได้พอมองออกว่า สิ่งที่เคยได้ยินว่า “เรารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยิ่งชีพ ใครจะมาทำร้ายทำลายไม่ได้ และต้องให้ “คนดี” ปกครองบ้านเมือง หรือเสียงของคนไม่อาจเท่าเทียมกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น เราจะต้องกำจัดระบอบทักษิณออกไปให้สิ้นซาก” ที่มาของสิ่งเหล่านี้ก็มาจากแนวคิดและอุดมการณ์ของสองกลุ่มนี้นั่นเอง
ปัจจุบันขั้วการเมืองสองฝ่ายมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องเลือกข้าง และสถาปนาตนเองให้เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 นี้ ยิ่งทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ประชาชนจะวางตัวเป็นกลางไม่ได้เลย ชอบแบบไหน ก็ให้สนับสนุนฝ่ายที่ตนเองเลือกอย่างเปิดเผย เพราะนั่นเป็นการยืนยันกับคนในสังคมว่าตนเองต้องการให้ประเทศก้าวเดินไปในทิศทางใด ถ้าเลือกพรรคอนุรักษนิยม ย่อมหมายความว่า เราคือผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พร้อมสนันบสนุนคนดีที่มาจากทหารให้มาปกครองบ้านเมือง หากเลือกพรรคประชาธิปไตย ย่อมหมายความว่า เราเลือกให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่กลับหลังหัน และให้คนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน จนกระจุก แต่รวยกระจายกันได้เสียที
เอาเป็นว่า การแบ่งขั้วทางการเมือง ไม่ได้เป็นการแบ่งขั้วกันอย่างลอย ๆ แต่เกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มแต่ละขั้วก็มีเหตุผลในการกระทำของตนเองแทบทั้งสิ้น เราจึงเห็นได้ว่า แนวโน้มที่จะทำให้ฝ่ายขวาสุดขั้วและซ้ายสุดโต่งหันมาปรองดองหรือหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั้นแทบเป็นศูนย์ เพราะต่างฝ่ายต่างก่อร่างสร้างแนวคิดและอุดมการณ์ รวมทั้งสืบทอดอุดมการณ์ของตนเองจากรุ่นสู่รุ่นกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้แอบคิดว่า ต่อให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะคว้าชัยชนะมาได้ ก็ใช่ว่าฝ่ายขวาสุดขั้วจะหายสาบสูญไป พวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และพร้อมจะโค่นอำนาจของฝ่ายซ้ายสุดโต่งได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือหากฝ่ายขวาสุดขั้วคว้าชัยชนะมาได้อีกครั้ง ก็ไม่การันตีว่า ฝ่ายซ้ายสุดโต่งจะโค่นอำนาจได้โดยง่าย เพราะมีกองทัพเป็นฐานกำลังสำคัญ
สิ่งที่ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเรา ๆ จะทำได้ ก็คงต้อง “ทำใจ” เพราะการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปมา มันก็คงจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ที่ถ้าเหนื่อย ก็แค่หยุดพัก แล้วเลือกตั้งกันใหม่ก็แค่นั้นเอง