ข่าวเศรษฐกิจ

Money Expo กร่อย ผู้ชมงานบางตา คาดการลงทุนลดลง

18 พฤษภาคม 2567 20:52 | โดย นางสาวพรพิสุทธิ์ มั่นคง, นางสาวจันจิรา จันสาขะ, นายปรีชา ขอวางกลาง

         

          ยอดผู้เข้าชม 2 วันแรกของงาน MONEY EXPO 2024 BANGKOK ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่ายอดการลงทุนและการใช้จ่ายลดลง อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยอื่น ๆ

          งานมหกรรมการเงินหรือ MONEY EXPO นับว่าเป็นมหกรรมการเงินการลงทุนที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดในประเทศไทย มีสถาบันทางการเงินเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งภายในงานมีการออกบูทนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2567

          จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า ผู้เข้าชมงานมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หลายคนจึงสนใจเรื่องการเงินการลงทุนน้อยลง ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ในตอนนี้น่าเป็นห่วง การที่ผู้เข้าชมงานลดลงจากปีที่แล้วสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนกำลังขาดรายได้

      

          นางสาวกัลยกร คำแก้ว พนักงานประจำบูทกรุงไทย-แอกซ่า บริษัทประกันชีวิต ให้ข้อมูลว่า การออมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้คนเริ่มออมน้อยลง “ปีนี้คนมาเดินในงานน้อย เราเองก็ต้องพยายามหาลูกค้า ซึ่งหายากกว่าปีก่อน ๆ มาก” นางสาวกัลยกรกล่าวเสริม


          โดยบรรยากาศงานที่มีผู้เข้าชมบางตาและเงียบเหงาทำให้บรรดาพนักงานที่ออกบูท ทั้งจากธนาคาร บริษัทประกัน และสถาบันทางการเงินอื่น ๆ ต่างก็เร่งทำยอดขายให้ครบตามโควต้าที่บริษัทกำหนดไว้ นั่นจึงสะท้อนว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด
          ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวคาดการณ์ว่าจะยังคงมีผู้เข้าชมงานอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา เพราะผู้คนไม่คิดที่จะลงทุนในสถานการณ์เช่นนี้

ธปท. เผยนวัตกรรมดูแลการเงินที่ครอบคลุมทุกธนาคาร สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในแอปฯ เดียว

18 พฤษภาคม 2567 21:01 | โดย นายวีรพล สีดำ, นางสาวชุษณา วิภาสรัตนากร

          ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลทุกธนาคารให้อยู่ในที่เดียว ซึ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น



          17 พ.ค. 2567 ในงานมหกรรมการเงิน ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอนโยบายการใช้ประโยชน์ข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) หลักสำคัญของนโยบายนี้คือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนบนพื้นฐานว่า ข้อมูลเป็นของประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการส่งข้อมูล ไม่ว่าจากผู้ให้บริการรายใดก็ตามไปยังผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น


          นางสาวอัครา เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการเปิดมุมมองการใช้ประโยชน์ข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) ว่าต้องการให้ประชาชนได้ใช้ข้อมูลของตนเองที่เก็บอยู่ในธนาคารแห่งต่าง ๆ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูล ซึ่งสามารถจัดการกับข้อมูลของตนเองได้ "ถ้าเราเป็นลูกค้าธนาคารสีเขียวแล้วต้องการใช้บริการธนาคารสีน้ำเงิน เราก็สามารถแจ้งธนาคารสีเขียวให้ส่งข้อมูลไปยังธนาคารสีน้ำเงินได้ ยกตัวอย่างเช่น การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มผ่านแอปพลิเคชันต่างธนาคารจะสามารถทำได้ โดยอาจมีค่าธรรมเนียมที่สูง แต่ในอนาคตทุกอย่างจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกันหมด เหมือนระบบสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดหรือพร้อมเพย์ เมื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกธนาคารจะสามารถส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และไม่มีค่าธรรมเนียม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาและหารือกัน คาดว่าจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ในปีหน้า" นางสาวอัครา กล่าว




          ตัวอย่างของบริการที่จะเกิดขึ้นคือแอปพลิเคชันที่ทำให้เราสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทุกธนาคารที่มีบัญชี ข้อมูลของทุกธนาคารจะมารวมอยู่ในแอปพลิเคชันเดียว เมื่อเราเข้าแอปพลิเคชันจะสามารถดูยอดเงินในบัญชี สินเชื่อ หรือการลงทุนของทุกธนาคารในหน้าเดียวได้ หรือหากต้องการขอสินเชื่อก็สามารถเลือกส่งข้อมูลไปธนาคารที่ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารในการทำธุรกรรม ทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัล สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือแจ้งเตือนการสมัครใช้บริการชำระเงินจากบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเราอาจลืมไปแล้ว นอกจากนี้ยังบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราในแต่ละธนาคาร โดยแอปพลิเคชันนี้จะทำให้การบริหารจัดการเงินง่ายขึ้น



ผู้ปกครองโอด ค่าใช้จ่ายพุ่งต้องแบกรับปัญหาการเงินในช่วงเปิดเทอม

18 พฤษภาคม 2567 20:53 | โดย นางสาวจันจิรา จันสาขะ, นางสาวพรพิสุทธิ์ มั่นคง

          ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานที่เพิ่มขึ้นบวกกับสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ส่งผลให้ผู้ปกครองประสบปัญหาด้านการเงินในช่วงที่บุตรหลานเปิดเทอม และมีความกังวลใจในเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ทั้งอุปกรณ์การเรียน ค่าเทอม ชุดนักเรียน กระเป๋า รองเท้า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ทำให้ผู้ปกครองต้องประหยัด ตัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อจัดเตรียมเงินมาไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอม


นางสาวสุภาภรณ์ คุ้มกระโทก
      
          จากการสำรวจเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 พบว่าผู้ปกครองหลายคนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา นางสาวสุภาภรณ์ คุ้มกระโทก อายุ 63 ปี อาชีพแม่บ้านทำความสะอาด กล่าวว่าตนเองมีบุตรหลานในวัยเรียน 2 คน เรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 1 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 คน ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเทอมเพราะเรียนในโรงเรียนรัฐบาล แต่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียน สมุด หนังสือ ชุดนักเรียน กระเป๋า รองเท้า และกังวลใจว่าเงินจะไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัวช่วงเปิดเทอม เพราะตนเองรับหน้าที่หลักในการดูแลค่าใช้จ่ายของบุตรหลานทั้งสองคน จึงส่งผลกระทบต่อการเงินในครอบครัว โดยต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อการเล่าเรียนของบุตรหลาน


นายศุภลักษณ์ หงษ์นคร และภรรยา

         ด้านนายศุภลักษณ์ หงษ์นคร อายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย กล่าวว่าตนเองมีหลานชาย 1 คน เรียนในโรงเรียนเอกชน มีค่าใช้จ่ายคือค่าเทอมเกือบ 20,000 บาท ยังไม่รวมค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยต้องจ่ายเองเต็มจำนวนทั้งหมดเนื่องจากเบิกจ่ายแบบข้าราชการไม่ได้ จึงต้องเก็บเงินเตรียมไว้ก่อนเปิดเทอม อีกทั้งช่วงนี้ขายของไม่ดี เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อการเงินในครอบครัวอยู่พอสมควร


นางสาววรัญญา ปิ่นแก้ว

          ส่วนนางสาววรัญญา ปิ่นแก้ว อายุ 38 ปี อาชีพสาวยาคูลท์ เปิดเผยว่าตนเองมีลูก 3 คน คนโตเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ คนกลางเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และคนเล็กเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เมื่อถึงเวลาเปิดเทอม สำหรับคนโตก็เริ่มคิดแล้วว่าจะใช้เงินสักกี่หมื่น คนเล็กก็จ่ายค่าเทอมและค่าครูพี่เลี้ยง ส่วนคนกลางรัฐบาลช่วยจ่ายค่าเทอม แต่อุปกรณ์การเรียนหรือชุดนักเรียนก็หมดเงินไปเยอะเหมือนกัน รวมทั้งสามคนเป็นเงิน 40,000-50,000 บาท โดยเธอเตรียมเงินเก็บสะสมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม ยอมรับว่าตนเองต้องประหยัดอดออมมากเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้นำเงินไปจ่ายค่าเทอมของลูก ๆ


นายพีรกันต์ สากระแส และหลานสาว

          และนายพีรกันต์ สากระแส อายุ 62 ปี อาชีพขายกาแฟ ให้ข้อมูลว่า ตนเองมีหลานสาวเรียนมหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมาคือค่าเทอม ค่าชุดนักศึกษา ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และอุปกรณ์เสริมอย่างแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระหว่างเรียน มีความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์เสริมดังกล่าว เพราะมีราคาสูงถึง 30,000-40,000 บาทต่อเครื่อง ส่งผลกระทบต่อการเงินในครอบครัวอยู่บ้าง แต่โชคดีที่หลานสาวเองก็ทำงานพิเศษและได้ทุนการศึกษาจึงแบ่งเบาภาระได้บ้าง นายพีรกันต์กล่าวเสริมต่อไปว่า “ถึงได้ทุนก็ไม่ครบ 100% มีบางส่วนที่ต้องจ่ายเอง เบิกไม่ได้ ต้องเตรียมเงินไว้ล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม”
          ทั้งนี้ ปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมที่พุ่งสูงขึ้นยังเกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงและค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย